น่าน ดินแดนที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ ผืนป่า สายน้ำ ซึ่งเสน่ห์ของน่านไม่ได้มีเพียงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีวัฒนธรรม ประเพณีที่น่าสนใจ ให้เราได้ค้นหาและมาสัมผัสกันได้ตลอดทั้งปี โดยไล่เรียงข้อมูลดังนี้
งานนมัสการพระธาตุเบ็งสกัด 
จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) ของทุกปี เป็นประเพณีที่จะมีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ อบรมสมโภชการเจริญพระพุทธมนต์ และการสวดเบิกการเวียนเทียน การสรงน้ำพระธาตุและการบูชาพระธาตุด้วยธูปเทียนดอกไม้ของคนพื้นเมืองที่เป็นชาวพุทธในปีหนึ่งจะมี 1 ครั้งเท่านั้น
พระธาตุเบ็งสกัด เป็นพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณหรือเมืองวรนครเพื่อให้ เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครอง คำว่า เบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดิน ที่เมื่อใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง
องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง
งานประเพณีกินดอกดำดอกแดงและโน้มกิ่งฟ้า ของชนเผ่าขมุ 
ประเพณีกินดอกดำดอกแดง คือ ประเพณีขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าขมุ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน 4 ของทุกปี (ประมาณเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์) ชุมชนเผ่าขมุที่อยู่ในตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จะพบประเพณีนี้ที่บ้านห้วยแกลบ บ้านน้ำปาน บ้านน้ำหลุ บ้านห้วยมอย และบ้านใหม่ชายแดน
การกินดอกดำดอกแดงนั้นจะต้องทำในวันดีเท่านั้น ซึ่งแต่ละบ้านจะมีวันดีไม่เหมือนกัน ประเพณีนี้ จะทำหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยกระทำกันในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละครอบครัว เพื่อความอยู่ดีมีสุขและเป็นการรักษาประเพณีที่มีมาแต่โบราณให้สืบทอดต่อไป การกินดอกดำดอกแดงจะมีเหล้าอุ ไก่ มัน หรือเผือกนึ่ง และมีดอกดำดอกแดงรวมอยู่ด้วย
เดือนพฤษภาคม
งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย 
ชาวน่าน มีความเชื่อและศรัทธาในองค์พระธาตุเขาน้อย ซึ่งตามตำนานเชื่อว่า พระธาตุเขาน้อยองค์นี้ สร้างโดยมเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ในปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า ชื่อ หม่องยิง
ประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย ในวันเพ็ญขึ้น 14 ค่ำ และ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การแสดงพระธรรมเทศนา การทำบุญตักบาตร ถวายผ้าทิพย์ห่มองค์พระธาตุ การสรงน้ำพระธาตุ การเวียนเทียน และมีประกวดขบวนแห่ครัวทาน จุดบั้งไฟขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา
เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม
งานประเพณีตักบาตรเทียน 
ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนชาวอำเภอเวียงสา ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2344 หลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญทรงสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี (วัดบุญยืนสร้างเมื่อ พ.ศ.2343)
ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร เดิมประเพณีใส่บาตรเทียน เป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืน และต่อมาได้ขยายไปทั่วอำเภอเวียงสา สืบเนื่องจากวัดบุญยืน เป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภออยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต พระภิกษุสามเณรทุกรูปในอำเภอจึงได้มาทำพิธีขอขมา (สูมาคารวะ) เจ้าคณะอำเภอ และพระเถระที่มีอายุพรรษามากที่วัดนี้ จึงเกิดการสานต่อประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้
ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน เพราะเป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกัน ที่อื่นปรากฏเฉพาะคฤหัสถ์ใส่บาตรพระเพียงอย่างเดียว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ให้อยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสาต่อไป
เดือนกันยายน
งานมหกรรมเครื่องเงินน่าน 
เป็นงานที่ส่งเสริมการผลิต และจำหน่ายเครื่องเงินเมืองน่าน ตลอดจนประชาสัมพันธ์เผยแพร่เครื่องเงินน่านที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน รวมทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตเครื่องเงินของชาวน่าน ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการพัฒนาเครื่องเงินเมืองน่าน
ประเพณีล่องเรือไฟอำเภอนาน้อย ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2480 โดยชาวอำเภอนาน้อย มีความเชื่อในประเพณีว่าเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การเอาไฟเผาความทุกข์ ประเพณีล่องเรือไฟของภาคอีสาน เรียกว่า “ไหลเรือไฟ” ส่วนที่อำเภอนาน้อยเรียกว่าประเพณีล่องเรือไฟ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ชาวบ้านเรียกว่างานยี่เป็ง หรือวันลอยกระทงในปัจจุบัน เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาได้มาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่ายๆ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การประดับตกแต่งเรือไฟภายในจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อยเรือไฟลงแม่น้ำ เท่าที่หลักฐานปรากฏมีแนวทางที่คล้ายกันอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่างๆ อาทิ ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ (พิธีเผาหลัวพระเจ้า) จะทำกันที่บริเวณวัด ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกพระคุณของพระแม่คงคา เป็นต้น
ในปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งด้วยไฟฟ้าให้สวยงามสว่างไสวเต็มลำน้ำ อำเภอนาน้อย ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องกันมา เพื่อรักษาประเพณี ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไปสู่คนรุ่นหลัง
เดือนธันวาคม
งานสำคัญประจำปีที่ห้ามพลาด “เทศกาลของดีเมืองน่านและงานกาชาดจังหวัดน่าน” 
ทุกธันวาคมเมื่อลมหนาวมาเยือน จังหวัดน่านมีงานประจำปี “เทศกาลของดีเมืองน่าน และงานกาชาดน่าน” ซึ่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนของชาวน่านทุกอำเภอไว้อย่างครบถ้วน และงานแสดงนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวน่านสุขกายสุขใจ งานนี้จัดขึ้นเพื่อหารายได้ช่วยเหลือกิจการสาธารกุศลของเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน จนถือเป็นเทศกาลประจำปีให้ชาวน่าน และผู้เข้าร่วมงานจากต่างถิ่นทั่วไทยได้มาเที่ยวชม
ในงานเทศกาลของดีเมืองน่าน ท่านจะได้ชิมอาหารล้านนาน่านแสนอร่อย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ งานฝีมือชาวน่านที่คัดสรรมามากมาย ชมงานนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริ ณ ริมแม่น้ำน่านอันร่มรื่นตลอดสาย ยังสื่อถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำของชาวน่าน และเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแม่น้ำน่าน อันเป็นสายเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงชีวิตชาวน่าน และเป็น 1 ในสายน้ำหลัก ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลรวมสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมายาวนานอีกด้วย
งานประเพณีปีใหม่ม้ง 
เป็นงานรื่นเริงของชาวม้งทุกๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี แต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม
ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ ภาษาม้ง ว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ”เพราะชาวม้งจะนับเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย (เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่จะประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันนั้นหัวหน้าครัวเรือน จะประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดการงานทุกอย่าง และจะมีการจัดการละเล่นต่างๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลง เป็นต้น