ข่าวและกิจกรรม
หน้าหลัก / ข่าวและกิจกรรม / ตามรอย... สิเนหามนตาแห่งลานนา ส.ค. 2560
21 ก.ย. 60
ตามรอย... สิเนหามนตาแห่งลานนา ส.ค. 2560
ผ้าทอไทลื้อ


          ... “องค์เป็นเจ้าฮู้บ่ว่า มีคนไตเถิน ไตลื้อ อพยพมาจากตุงคบุรีมาอาศัยอยู่ในเวียงวรนครจำนวนหนึ่งแล้วด้วย”

         “ฮื้อ” องค์เป็นเจ้าฮับฮู้ “พวกเปิ้นมาเญียะอะหญังกันที่นี่”

         “ก็ตำหูกทอผ้า อย่างที่องค์เจ้าเคยยกตัวอย่างในลักขณาว่าด้วยทืน แล ก๋านเตียวม้าก๊าขาย พวกเปิ้นเก่งจริงด้วย ได้ผ้าออกมางามแต๊ มีสล่าตำหูกทอผ้าเป็นหัวหน้าชื่อนางบัวเกี๋ยงตั้งเฮือนคารวมกันเป็นกลุ่ม อยู่ทางกำแพงเวียงด้านทิศเหนือ บาทเจ้า”...

         ...ที่กลุ่มเฮือนคาของไตเถิน ไตลื้อ นั้น ดูสงบแต่ก็ค่อนข้างจะซอมซ่อ ทุกเฮือนยกพื้นสูง ข้างใต้ถุนมีกี่ตำหูกตั้งอยู่เป็นลักษณะพิเศษ บ่งบอกถึงการทำมาหากินของคนที่นี่ องค์เป็นเจ้ามาพร้อมบารมีหมีควายกับทหารติดตามอารักขาไม่กี่คน บารมีหมีควายพาองค์เป็นเจ้าตรงไปที่เฮือนของหัวหน้า นางบัวเกี๋ยงกำลังนั่งตำหูกอยู่ที่กี่พอดี ทั้งมือทั้งตีนขยับอย่างคล่องแคล่ว เสียงฟืมกระทบโครงหูกดังแต้กๆ เป็นจังหวะ ดึงเอาด้ายจากกระสวยมาตำหูกให้เป็นผืนผ้า ใช้กรรมวิธีเกาเส้นด้ายพุ่งล้วงสอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามที่กำหนดไว้ จนเกิดเป็นลวดลายติดต่อกันเป็นทางยาวและเป็นคลื่นเหมือนคันได พอเป็นผืนแล้วมองดูงามนัก...

         ที่มา สิเนหามนตาแห่งลานนา ฉากที่ห้า – เงา หน้า 315-318

         ผ้าทอลายน้ำไหล เป็นผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน แห่งเดียวในประเทศไทยซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสกุลลื้อ ที่ได้วาดลวดลายของผ้าซิ่นของผู้หญิงในรูปเป็นลายผ้าซิ่นทั้งหมดด้วยผ้าทอลายน้ำไหลที่ดัดแปลงมาจากผ้าลายชาวลื้อ ชาวไทลื้อ จังหวัดน่าน สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2379 ชาวไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากกลุ่มหนึ่งในพื้นที่จังหวัดน่าน มีภาษาพูด และประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และยังคงรักษาสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมโบราณของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานมากที่สุดในอำเภอท่าวังผา อำเภอปัว ชาวไทลื้อจะมีศิลปะและอัตลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้าน สถาปัตยกรรม ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว งดงามและเรียบง่าย มีวัฒนธรรมการแต่งกายเฉพาะตัวทั้งหญิงและชายที่มีเอกลักษณ์ และมีการทอผ้าที่สืบทอดกันมาและอยู่คู่กับวิถีชีวิตมาแต่ช้านาน หญิงชาวไทลื้อจะต้องทอผ้า เพื่อไว้สำหรับใช้เองในครัวเรือนอุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้าเป็นกี่ไม้แบบดั้งเดิม กระสวยไม้ ฟืมไม้ ใช้ดอกฝ้ายสีขาวปั่นเป็นเส้นด้าย และมีการย้อมสีเส้นด้ายจากสีธรรมชาติทำให้มีสีสันต่างๆ การทอผ้าสืบทอดมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า การเกาะล้วง คือลักษณะการใช้มือจับเส้นด้ายหรือไหมต่างสีสอด (ล้วง) นิยมใช้เส้นไหมเงิน และไหมทองทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม เรียกว่า ผ้าทอลายน้ำไหล สาเหตุที่เรียกผ้าทอลายน้ำไหล เพราะลวดลายที่ทอออกมามีลักษณะเหมือนสายน้ำกำลังไหลเป็นทางยาว ทำให้มีความสวยงามและโดดเด่น

         ผ้าทอไทลื้อ มีความโดดเด่น เนื่องจากเส้นด้ายทำมาจากดอกฝ้าย แล้วนำมาย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ และเป็นผ้าที่ทอด้วยมือตามภูมิปัญญา มีความละเอียดปราณีตในการทอจึงทำให้มีลวดลายสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในปัจจุบันมีการนำผ้าทอมาประยุกต์เป็นสิ่งของเครื่องใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น กระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น โดยในส่วนของผู้ผลิตผ้าลายน้ำไหล ต้นตำรับดั้งเดิมอยู่ที่บ้านหนองบัว หมู่บ้านของชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้า โดยเริ่มทอผ้ามาไม่น้อยกว่า 150 ปีปัจจุบัน ผ้าทอลายน้ำไหล ของบ้านหนองบัว ไม่ได้ขายกันเฉพาะในชุมชน แต่เป็นสินค้าภูมิปัญญาที่ำขึ้นมาขายเป็นของฝากของนักท่องเที่ยวด้วย