ข่าวและกิจกรรม
หน้าหลัก / ข่าวและกิจกรรม / ตามรอย... สิเนหามนตาแห่งลานนา ก.ย. 2560
21 ก.ย. 60
ตามรอย... สิเนหามนตาแห่งลานนา ก.ย. 2560
มลาบรี วิถีคนดง


         คณะพรรคขอให้มัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์ช่วยนำชมหน่อย เริ่มต้นก็ชมนิทรรศการชั้นล่างก่อน ซึ่งจัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นลานนา...นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่ม 5 เผ่า ของจังหวัดน่าน...

         

         ...ตองเหลือง นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นคนที่ชอบหลบเร้นสังคม ใช้ชีวิตอยู่กับป่าอย่างกลมกลืน นุ่งห่มด้วยผ้าเตี่ยวผืนเดียว ยังชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ ไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง สร้างเพียงเพิงมุงใบตอง และจะย้ายถิ่นก็เมื่อใบตองเริ่มแห้งและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า ผีตองเหลือง ในปัจจุบันนี้ภาครัฐได้ช่วยเหลือให้มีที่ดินทำกิน จึงได้เริ่มอยู่กับที่เป็นถาวรมากขึ้น ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์กันไป...

         ที่มา สิเนหามนตาแห่งลานนา ฉากที่ห้า – แจ้ง หน้า 285

         ชนเผ่ามละ หรือที่คนอื่นเข้าใจในชื่อเผ่าตองเหลืองหรือ มลาบรี โดยแบ่งความหมายของชื่อของชนเผ่านี้ได้เป็น 2 คำ คือ “มละ” แปลว่า “คน” (ซึ่งคำนี้ต้องอ่านควบกันทั้งสองพยางค์ทีเดียว) เป็นคำที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกชนเผ่าของตนเอง คำว่า “บรี” นั้นหมายถึง “ป่า” ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งมาเพิ่มตอนหลัง จึงทำให้เกิดคำว่า “มลาบรี (Mlabri)” หมายถึง “คนป่า” แต่ชนเผ่านี้อยากให้เรียกพวกเขาว่า “ชนเผ่ามละ” ที่หมายถึง “คน” ไม่ใช่ “มลาบรี” ที่หมายถึง “คนป่า” เพราะพวกเขาไม่ใช่คนป่า พวกเขาเพียงใช้ชีวิตอยู่ในป่าเท่านั้น แต่เหตุผลของการเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า “ผีตองเหลือง” นั้น เนื่องจากชนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเร่ร่อน หรือย้ายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่เป็นหลักแหล่ง สร้างบ้านเป็นเพิง หลังคามุงด้วยใบตอง ใบปาล์ม ใบก้อใบหวาย ใบอ้อป่า หรือใบไม้ที่หาพบในป่า เป็นที่อยู่อาศัยในระหว่างที่หาอาหาร แต่เมื่อแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นมีอาหารไม่พอเพียงก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อหาอาหารต่อไป และเป็นความบังเอิญที่ชาวบ้านในแถบนั้น เคยพบชนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มสร้างที่อยู่ และสังเกตว่าเมื่อใบไม้ที่ใช้มุงหลังคาเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลือง พวกเขาจะย้ายหนีไป และพร้อมกับความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของพวกเขาที่เชื่อว่าจะเป็นบาปหากพวกเขาได้พบกับคนจากพื้นที่ราบ หรือคนแปลกหน้าจากเผ่าอื่นที่ไม่เคยรู้จัก จึงอพยพหลบหนีหรือหายตัวไปอย่างรวดเร็วราวกับเป็นผีหายตัวได้ พวกเขาจึงถูกเรียกชื่อว่า “ผีตองเหลือง” ดังนั้นคำว่า “ผี” เป็นเพียงอากัปกิริยาเปรียบเทียบการอพยพย้ายที่อยู่อย่างรวดเร็วด้วยความชำนาญในพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศคือ “ป่า”

         ชาวมลาบรี ใช้ชีวิตอยู่กับป่า นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว ยังชีพด้วยการเก็บของป่า ขุดเผือกมัน ตีผึ้ง ล่าสัตว์เป็นอาหาร และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำให้มลาบรีมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เราอาจเคยพบเห็นแต่ในพิพิธภัณฑ์ เช่น หอก กระบุง ตะกร้าที่ทำขึ้นเอง การจุดไฟด้วยการนำก้อนหินสองก้อนมาตบกระทบกัน หรือการเป่าใบไม้ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว มลาบรี มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแขวงไชยะบุรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ท่ามกลาง “ข่า” กลุ่มต่างๆ ก่อนจะข้ามเทือกเขาเข้ามาในจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ นักภาษาศาสตร์ได้จัดชาวเผ่านี้ไว้ ในกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติค สายมอญ-เขมรเหนือ ในกลุ่มย่อยของภาษาขมุ

         ปัจจุบันชนเผ่ามลาบรี มิได้ย้ายถิ่นฐานตามหัวใจเสรีแล้ว เพราะภาครัฐได้จัดการให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการปลูกกระท่อมที่พักถาวร มีที่ดินทำกิน ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาด้านการศึกษา สุขอนามัย ทว่า ภาษา ความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังได้รับการสืบทอด มลาบรีกลายเป็น “คนดัง” ของจังหวัดน่าน ตั้งแต่มีการบันทึกวิถีชีวิตของพวกเขามาเผยแพร่เป็นภาพยนตร์สารคดีเมื่อห้าสิบปีก่อน ในปัจจุบัน เป็นไปได้น้อยมากที่จะมีบางกลุ่มซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก นอกจากนี้ยัง มีชุมชนพัฒนาให้เยี่ยมเยียนพบปะ ศึกษาวัฒนธรรมพวกเขาเหล่านี้ได้ที่ หมู่บ้านห้วยหยวก ตำบลขะนิง อำเภอเวียงสา ที่มีจำนวนสมาชิกเกือบสองร้อยคน