News & Events
Home / News & Events / Follow... The Seductive Allure of Lanna Oct 2018
12 Oct 18
Follow... The Seductive Allure of Lanna Oct 2018

ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน


...เป็นเวลาหลายวันมาแล้ว ที่ช้างแก้วหมอกมุงเมืองพาพระญาผาสุริยาลัดเลาะเลียบแม่น้ำปัวลงมาทางทิศใต้ จนจวบลำน้ำใหม่ที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีลำน้ำอีกสายจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไหลมารวมกัน 
“แสนหลวงเอกชัย” องค์เป็นเจ้าเรียกข้าหลวงจอมซอกแซก “สูฮู้บ่ว่าลำน้ำใหญ่นี่ชื่ออะหญัง”
“เรียกแม่น้ำปัวก็ได้นี่ บาทเจ้า” แสนหลวงเอกชัยพิทูลเสนอ “มวลน้ำส่วนใหญ่ยังมาจากลำน้ำปัวอยู่ดี”
“ไม่งาม” องค์เป็นเจ้าไม่เห็นด้วย “หาชื่อใหม่ให้ดีกว่า ให้สง่าสมศักดิ์ศรี”
“สมศักดิ์ศรีอะหญัง บาทเจ้า” แสนหลวงเอกชัยสงสัย
“สมศักดิ์ศรีที่เมื่อหกสิบปีที่แล้ว แม่ของตนเป็นเจ้าอุ้มท้องลงมากันสองคนกับแม่เฒ่ากู้น่ะสิ เลียบลำน้ำนี้ลงไปเลย ไปเกิดลูกข้างล่างโน่นที่ตีนผาชู้ ตะก่อนอาจจะเรียกว่าเป็นแม่น้ำปัว แต่วันนี้จะตั้งชื่อใหม่” องค์เป็นเจ้าเล่าความเป็นมา
“งั้น ขอชื่อยาวๆ ให้ยิ่งใหญ่ไปเลยนะบาทเจ้า” แสนหลวงเอกชัยเปลี่ยนมาเห็นด้วย และคะยั้นคะยอ
“ให้ชื่อ น่าน” องค์เป็นเจ้าตอบห้วน
“อ้อ สมศักดิ์ศรีแล้ว บาทเจ้า” แสนหลวงเอกชัยสนับสนุนทันที “แม่ น้ำ น่าน”

ที่มา สิเนหามนตาแห่งลานนา ฉากที่ห้า – เงา หน้า 325 – 326




แม่น้ำน่านเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือของไทย  เราคุ้นชินกับชื่อแม่น้ำปิง วัง ยาม น่าน ที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย   มีซักกี่คนที่รู้ว่าน้ำจากแม่น่าน ให้ปริมาณน้ำถึง ร้อยละ 40 ของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทั้งประเทศ 


แม่น้ำน่านมีจุดกำเนิดบริเวณสันปันน้ำบนดอยภูคา ตามแนวเทือกเขาหลวงพระบางในพื้นที่ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ จากหยดน้ำเล็กๆ รวมตัวกันออกมาเป็นตาน้ำใสๆ ก่อกำเนิดเป็นสายธารเล็กๆ ที่ไหลรวมตัวกันเป็นต้นน้ำน่านที่มีเส้นทางน้ำไหลผ่านขึ้นเหนือไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติ แล้วไหลย้อนกลับลงมาผ่านอำเภอทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว ท่าวังผา เมืองน่าน เวียงสา นาน้อย และไหลออกจากอำเภอนาหมื่น ลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ ที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไปรวมตัวกับแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำยม ที่ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และนำพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์สู่ไร่ นา พืชผล สร้างผลผลิตให้กับชุมชนคนน่าน และยังมีความเชื่อมโยงระหว่าง วิถีชีวิต ความเชื่อ ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่ถูกถ่ายทอดออกมาทั้งทางด้านประเพณี จิตรกรรมและหัตถกรรม ที่เห็นได้จากงานประเพณีแข่งเรือยาวหัวพญานาคที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์มายาวนาน แสดงถึงความผูกพันระหว่างชุมชนกับสายน้ำ ภาพตำนานประวัติศาสตร์ของลุ่มแม่น้ำน่านที่ถูกถ่ายทอดลงบนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ภาพซอล่องน่าน และฟ้อนล่องน่านในขบวนเรือแข่งที่มีมาแต่โบราณ งานหัตถกรรมที่ถักทอออกมาเป็นลายน้ำไหลอันงดงามบนผืนผ้าทอไทลื้อ ล้วนกลมกลืนกับสายน้ำที่บ่งบอกถึงความเป็นน่าน พลังแห่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งสัตว์ป่า พืชพรรณ และชุมชน ทุกชีวิตต่างพึ่งพาอาศัยและมีความผูกพันกับแม่น้ำน่าน ทำให้ผู้คนและชุมชนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและรู้คุณค่าของป่าต้นน้ำน่าน

ติดตาม "สิเนหามนตาแห่งลานนา" ได้ที่ https://www.facebook.com/sinaeha.monta