ข่าวและกิจกรรม
หน้าหลัก / ข่าวและกิจกรรม / ปฏิทินท่องเที่ย...
8/28/2024 10:53:05 AM
ปฏิทินท่องเที่ยวจังหวัดน่าน
 น่าน ดินแดนที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ ผืนป่า สายน้ำ ซึ่งเสน่ห์ของน่านไม่ได้มีเพียงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีวัฒนธรรม ประเพณีที่น่าสนใจ ให้เราได้ค้นหาและมาสัมผัสกันได้ตลอดทั้งปี โดยไล่เรียงข้อมูลดังนี้

เดือนมกราคม

 งานนมัสการพระธาตุเบ็งสกัด 
           จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) ของทุกปี เป็นประเพณีที่จะมีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ อบรมสมโภชการเจริญพระพุทธมนต์ และการสวดเบิกการเวียนเทียน การสรงน้ำพระธาตุและการบูชาพระธาตุด้วยธูปเทียนดอกไม้ของคนพื้นเมืองที่เป็นชาวพุทธในปีหนึ่งจะมี 1 ครั้งเท่านั้น
           พระธาตุเบ็งสกัด เป็นพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณหรือเมืองวรนครเพื่อให้ เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครอง คำว่า เบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดิน ที่เมื่อใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง
           องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง


 งานประเพณีกินดอกดำดอกแดงและโน้มกิ่งฟ้า ของชนเผ่าขมุ 
           ประเพณีกินดอกดำดอกแดง คือ  ประเพณีขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าขมุ  สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน 4  ของทุกปี (ประมาณเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์) ชุมชนเผ่าขมุที่อยู่ในตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จะพบประเพณีนี้ที่บ้านห้วยแกลบ  บ้านน้ำปาน  บ้านน้ำหลุ  บ้านห้วยมอย และบ้านใหม่ชายแดน 
           การกินดอกดำดอกแดงนั้นจะต้องทำในวันดีเท่านั้น ซึ่งแต่ละบ้านจะมีวันดีไม่เหมือนกัน  ประเพณีนี้  จะทำหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยกระทำกันในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละครอบครัว เพื่อความอยู่ดีมีสุขและเป็นการรักษาประเพณีที่มีมาแต่โบราณให้สืบทอดต่อไป การกินดอกดำดอกแดงจะมีเหล้าอุ ไก่ มัน หรือเผือกนึ่ง และมีดอกดำดอกแดงรวมอยู่ด้วย



เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม


 งานประเพณีห้าเป็งไหว้พระธาตุวังคีรี 
           ประเพณีนมัสการพระธาตุวังคีรีเป็นประเพณีที่มีมาพร้อมกับการสร้างพระธาตุ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2451 สร้างโดย นายฮ้อยส่างหม่อง ปันนะย็อก กล่าวกันว่าเป็นประเพณีที่ ชาวบ้านตำบลน้ำปั้วถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต โดยกำหนดจัดงานประเพณีนมัสการพระธาตุวังคีรี ในวันขึ้น ในวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (เหนือ)  ณ บ้านวังม่วง หมู่ 1 ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นประจำทุกปี โดยคณะศรัทธาตำบลน้ำปั้วจะร่วมกันจัดขบวนแห่ครัวตาน ทำบุญตักบาตร  สรงน้ำพระธาตุ เวียนเทียน จิบอกไฟดอก ตานตุง ขนทรายเข้าวัด มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งคนโบราณถือว่า ผู้ใดที่ได้ตานตุง ได้ฟังเทศน์มหาชาติ ได้ขนทรายเข้าวัด ผู้นั้นจะมีความเจริญรุ่งเรือง มีข้าวของเงินทอง เหมือนดั่งเม็ดหินเม็ดทราย และได้ล้างบาปที่ได้เหยียบเอาเม็ดหินเม็ดทรายในวัดออกไป การได้ถวายทายแก่วัดเพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว

 งานประเพณีหกเป็งไหว้สาพระมหาธาตุแช่แห้ง 
           งานประเพณีหกเป็ง (เพ็ญ เดือน 6) หรืองานไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง มีการแห่ผ้าทิพย์ห่มพระธาตุ มีขบวนแห่ผ้าจากลานโพธิ์หน้าวัดเข้ามายังลานพระธาตุ แล้วทำพิธีอธิษฐานผ้าก่อนนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ ในวันนั้นพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกันมาทำบุญอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เกิดปีเถาะ พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ตามคติการ”ชุธาตุ” หรือการไหว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนา

 งานประเพณีปีใหม่เมี่ยน  (ประเพณีลุยไฟ) 
           ชาวบ้านสันเจริญ เป็นชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) ที่อพยพมาจากประเทศจีน มาสร้างถิ่นฐานในประเทศไทย เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเหล่านี้มีอาชีพปลูกฝิ่นอยู่บนดอยสูง เรียกกันว่า “สวนยาหลวง” หรือภาษาเมี่ยน เรียกว่า “ตมอินเด่” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ปลูกฝิ่นอันกว้างใหญ่ ต่อมาทางราชการห้ามปลูกฝิ่น ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน ต่อมาศูนย์สงเคราะห์และพัฒนาชาวเขาจังหวัดน่าน ได้ส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ พันธุ์อราบิก้า และพันธุ์คาร์ติมอร์ คาทุย ทิปก้า บนดอยมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี พื้นที่ปลูกกาแฟ จำนวน 2,000 ไร่ ทดแทนการปลูกฝิ่นในพื้นที่สวนยาหลวง และต่อมากลายเป็น การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปกาแฟสวนยาหลวง บ้านสันเจริญ ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน  ในแต่ละปีได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดน่านได้สนับสนุนเรื่องการจำหน่ายผลผลิต การแปรรูป รวมทั้งการตลาด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กาแฟสวนยาหลวงบ้านสันเจริญ มีจำหน่ายทั้งในพื้นที่และจังหวัดอื่นๆ ตามร้านค้าริมทางที่จำหน่ายกาแฟสด
สำหรับบรรยากาศภายในงานเฉลิมฉลองปีใหม่เมี่ยน เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความสามัคคี และมีการจัดงานเลี้ยงอาหารประจำเผ่า ซึ่งจะมีเฉพาะในงานเทศกาลพิเศษนี้เท่านั้น เช่น แกงหวาย, ต้มหน่อ, ไก่ตุ๋นสมุนไพร, หมูห่อใบกาแฟ
           นอกจากนี้ ยังมีการแสดงประจำเผ่า เช่น การแสดงดนตรีของชนเผ่าเมี่ยน การรำถาดอวยพรปีใหม่เมี่ยน การแสดงการเป่าใบไม้ ขับลำนำเมี่ยน หรือ จ้อยอวยพรปีใหม่ รวมทั้งการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตและวิดิทัศน์ตำนานเมี่ยนในไทยและตำนานเมี่ยนบ้านสันเจริญ โดยศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 25 จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับชาติพันธุ์

 เทศกาลดอกชมพูภูคาบาน และงานบวงสรวงเจ้าหลวงภูคา 
           เทศกาลดอกชมพูภูคาบาน จัดขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยลื้อ ไปพร้อมกับการชมดอกชมพูภูคา ภายในงาน มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การแสดงวัฒนธรรมไทยลื้อ การแสดงแสงสีเสียง การจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทุกปี เพื่อสืบสานและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม รวมถึงประเพณีอันดีงาม พร้อมกับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว งานจัดขึ้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอปัว จังหวัดน่าน
          "ต้นชมพูภูคา" เป็นพืชหายากชนิดหนึ่งของโลก มีดอกสีชมพูอมขาว พบแห่งเดียวที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เคยค้นพบในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีนและตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีการค้นพบอีกเลย และอาจจะสูญพันธ์จากโลกไปแล้ว จนในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการค้นพบอีกครั้งโดย ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย ณ อุทยานแหงชาติดอยภูคาแห่งนี้ 
            นักท่องเที่ยวที่สนใจธรรมชาติ นอกจากดอกชมพูภูคาแล้ว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ยังมีพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เต่าร้างยักษ์ ซึ่งเป็นปาล์มที่หายากและใกล้สูญพันธุ์  เมเปิล (ก่วมภูคา) ซึ่งต้นเมเปิลนี้พิเศษตรงที่ว่า เมื่อตอนต้นเล็กใบจะมี 5 แฉก และเป็นสีแดงทั้งต้น เมื่อโตขึ้นมาใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและเหลือเพียง 3 แฉก แต่พอแก่มาใบจะกลับเป็นสีแดงอีกครั้ง




เดือนเมษายน

 งานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ 
           เป็นประเพณีการสรงน้ำพระพุทธรูปองค์สำคัญ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่านที่สร้างโดยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์เชียงใหม่ ที่มาตีเมืองน่านและสร้างพระเจ้าทองทิพย์ไว้ที่วิหารวัดสวนตาล เมื่อ 600 ปี มาแล้ว  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-14 เมษายนของทุกปี  ชาวเมืองน่านจะทำบุญสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ โดยอัญเชิญ พระเจ้าทองทิพย์องค์จำลอง ออกแห่ไปรอบเมือง ให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในวันปีใหม่ ภายในวัดจัดให้มีพิธีสะเดาะเคราะห์ สืบชะตาเมือง และประกวดขบวนแห่นางสงกรานต์ มีมหรสพฉลองตลอดงาน

 งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง (เทศกาลสงกรานต์) 
           น่าน มีงานประเพณีปีใหม่เมืองเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในเขตล้านนาทั่วไป โดยมีลำดับกิจกรรม ดังนี้
- 13 เมษายน คือ "วันล่อง" หรือวันสังขานต์ล่อง เป็นวันที่ร่วมกันพัฒนาเก็บกวาดบ้านเรือน วัดวาอาราม เตรียมสิ่งของทำบุญ
- 14 เมษายน คือ "วันเนา" จัดเตรียมอาหาร ขนม เพื่อจะได้ไปทำบุญทานขันข้าวให้ผู้ที่ล่วงลับ ขนทรายเข้าวัด
- 15 เมษายน คือ "วันพระญาวัน" มีการสรงน้ำพระ คารวะพระสงฆ์ คารวะผู้เฒ่าผู้แก่ วันนี้ถือเป็นวันดีที่สุดเป็นพระญาแก่วันทังปี ตอนบ่ายมีการทำบุญทักษิณานุปาทานแก่บรรพบุรุษ  แต่คนในชุมชนเขตเทศบาลเมืองน่าน หรืออำเภอเมืองจะไปขนทรายเข้าวัดวันนี้
- 16 เมษายน คือ "วันปากปี" เป็นวันเถลิงศก ผู้คนจะจุดบอกไฟ(บั้งไฟ) ถวายพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งด้วยกัน แต่ละศรัทธาหมู่บ้านจะรวมตัวกันวัดสวนตาล เพื่อแห่ขบวนนางสงกรานต์ บอกไฟ และน้ำอบน้ำหอมไปสรงพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดสวนตาล
- 17 เมษายน คือ "วันปีใหม่" วันที่ชาวเมืองน่านจะนำของกินของใช้ ดอกไม้ น้ำอบน้ำหอมไปคารวะญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในละแวกหมู่บ้าน ตำบล และญาติ พบปะสังสรรค์ กินข้าวด้วยกันในหมู่ญาติมิตร


เดือนพฤษภาคม

 งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย 
           ชาวน่าน มีความเชื่อและศรัทธาในองค์พระธาตุเขาน้อย ซึ่งตามตำนานเชื่อว่า พระธาตุเขาน้อยองค์นี้ สร้างโดยมเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ในปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า ชื่อ หม่องยิง
           ประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย ในวันเพ็ญขึ้น 14 ค่ำ และ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การแสดงพระธรรมเทศนา การทำบุญตักบาตร ถวายผ้าทิพย์ห่มองค์พระธาตุ การสรงน้ำพระธาตุ การเวียนเทียน และมีประกวดขบวนแห่ครัวทาน จุดบั้งไฟขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา




เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

 งานประเพณีตักบาตรเทียน 
           ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนชาวอำเภอเวียงสา ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2344 หลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญทรงสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี (วัดบุญยืนสร้างเมื่อ พ.ศ.2343)
           ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร เดิมประเพณีใส่บาตรเทียน เป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืน และต่อมาได้ขยายไปทั่วอำเภอเวียงสา สืบเนื่องจากวัดบุญยืน เป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภออยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต พระภิกษุสามเณรทุกรูปในอำเภอจึงได้มาทำพิธีขอขมา (สูมาคารวะ) เจ้าคณะอำเภอ และพระเถระที่มีอายุพรรษามากที่วัดนี้  จึงเกิดการสานต่อประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้
           ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน เพราะเป็นประเพณีที่มีทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ใส่บาตรร่วมกัน ที่อื่นปรากฏเฉพาะคฤหัสถ์ใส่บาตรพระเพียงอย่างเดียว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ให้อยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสาต่อไป



เดือนกันยายน

 งานมหกรรมเครื่องเงินน่าน 
           เป็นงานที่ส่งเสริมการผลิต และจำหน่ายเครื่องเงินเมืองน่าน ตลอดจนประชาสัมพันธ์เผยแพร่เครื่องเงินน่านที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน รวมทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตเครื่องเงินของชาวน่าน ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการพัฒนาเครื่องเงินเมืองน่าน


 งานประกวดด้วงกว่าง 
           งานเทศกาล "โลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา" หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า "Hercules's Beetle" เป็นงานที่โดดเด่นเป็นหน้าเป็นตาของ อ.ปัว จ.น่าน ช่วงเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของ "กว่าง" ซึ่งในมุมมองสำหรับการชนกว่างของคนท้องถิ่นแล้ว เป็นเรื่องธรรมชาติในฤดูผสมพันธุ์กว่าง เป็นกิจกรรมของลูกผู้ชายชาวล้านนา ที่เกี่ยวข้องกับแมลง “ด้วงกว่าง” ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ตามฤดูกาล
           เวทีชนกว่าง จะใช้ไม้ท่อนมาเจาะรูปตรงกลางแล้วใส่ "อีโม้ะ" หรือ "อีหลุ้ม" (กว่างตัวเมีย) ซึ่งไม่มีเขา  เป็นตัวล่อไว้ แล้วปล่อยให้กว่างตัวผู้ 2 ตัว ต่อสู้แย่งชิงชัยชนะ แสดงถึงกำลังที่เหนือกว่า การต่อสู้ของแมลงเกิดขึ้นอย่างดุเด็ดเผ็ดมันบนขอนไม้ ระหว่างการต่อสู้เจ้าของกว่างจะหมุน  "ไม้ผัดกว่าง"  ให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะปลุกใจกว่างนักสู้
           ค่าตัวของกว่างที่ถือว่ามีฝีมือเข้าขั้นมีราคาถึง 500-1,000 บาททีเดียว นอกจากการชนกว่างแล้ว ยังมีการประกวดงานประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกว่าง เช่น ไม้ผัดกว่าง, การประกวดกว่างประเภทต่างๆ เช่น กว่างโซ้ง กว่างตัวใหญ่เขายาว, กว่างแซม ซึ่งเป็นกว่างที่มีขนาดตัวและเขาปานกลาง, การประกวดกว่างลักษณะพิเศษที่มี 3-5 เขา

 ล่องแก่งน้ำว้า 
           "น้ำว้าตอนกลาง" คือช่วงกลางของแม่น้ำว้า  มีระยะทาง ประมาณ 80 กม. จุดเริ่มต้นจะอยู่บริเวณบ้านสบมาง-บ้านห้วยล้อม ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า ลักษณะทั่วไปจะมีแก่ง และวังน้ำน้อยใหญ่สลับกันไปตลอดลำน้ำว้าที่ไหลผ่านหุบเขา โตรกผา กำแพงหิน และไหลผ่านผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ สองฟากฝั่งเขียวชอุ่มไปด้วยป่าผลัดใบ และป่าเบญจพรรณ 2 ฝั่งลำน้ำว้าจึงมีสภาพป่าเขาลำเนาไพรอันสวยงาม
ลำน้ำว้า ช่วงนี้กว้างและลึก มีปริมาณน้ำมาก กระแสน้ำจึงไหลเร็วและแรง เมื่อผ่านโขดหินที่ขวางกั้น ทำให้เกิดคลื่น และกระแสน้ำวนรุนแรง บางแก่งจะมีโขดหินที่แยกสายน้ำออกเป็นหลายๆ สาย ทำให้กระแสน้ำปั่นป่วนรุนแรง บางแก่งเป็นระดับน้ำตกประมาณ 1 เมตร ใต้น้ำมีโขดหิน เกิดกระแสน้ำวนอยู่ด้านล่าง สามารถดูดเรือให้ติดได้ เมื่อรวมเอา "น้ำว้าตอนบน" กับ "น้ำว้าตอนกลาง" เข้าด้วยกันจึงเป็นที่สุดของสายน้ำสำหรับการ ล่องแก่งของเมืองไทย ด้วยความยาวกว่า 100 ก.ม. ตื่นเต้น เร้าใจ สุดๆ กับการพายเรือยาง ฝ่าแก่งเดือดตลอด 2 วัน 1 คืน ผจญแก่งหินกว่าร้อยแก่งตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 ตามมาตรฐานสากล พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติสองฝากฝั่ง น้ำตกสายเล็ก ๆ ที่ไหลเลาะลดหลั่นลงมาตามหินผา พรรณไม้นานาชนิด ตื่นตากับกำแพงหินรูปร่างแปลกตา ดื่มด่ำกับบรรยากาศ แคมป์ปิ้งริมสายน้ำว้า



เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน

 งานตานก๋วยสลาก (งานบุญสลากภัตร) งานแห่คัวตาน (ครัวทาน) 
           เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่พุทธกาล ชาวเหนือถือว่าเป็นประเพณีทำบุญกลางบ้านที่สำคัญเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น พระภิกษุรับนิมนต์เพื่อมารับการถวายทานโดยการจับสลาก ถ้าอยู่ใกล้แม่น้ำน่านก็จะมีการแข่งเรือด้วย ถ้าไม่มีแม่น้ำก็จะมีการประกวดครัวทานแทนการแข่งเรือ เป็นกิจกรรมงานบุญที่สนุกสนานร่วมกันของคนในชุมชน
สลากเมืองน่านมี 3 ประเภทคือ
1. สลากสร้อย ต้นสลากใหญ่มีเครื่องไทนทานครบเกือบทุกอย่าง
2. สลากโชค สลากที่มีความพิเศษเพียบพร้อมด้วยวัตถุ รวมถึงปัจจัยพิเศษ
3. สลากน้อย สลากที่จัดเตรียมข้าวปลาอาหารส้มสุกลูกไม้ ห่อข้าว อาหารการกิน และหมาก เมี่ยง พลู ขมิ้น ตะไคร้

หมายเหตุ: สลาก คือ เอกสารแผ่นเล็กหรือใบข้อมูลที่ผู้เป็นเจ้าของกัณฑ์สลาก (ชุดเครื่องไทยทาน) เขียนชื่อเจ้าภาพและคำอุทิศไปหาผู้วายชนม์ แล้วนำใบข้อมูลนั้นไปรวมกัน นับจำนวนได้เท่าใดก็เฉลี่ยให้ตามจำนวนพระภิกษุ สามเณร หารแบ่งเท่ากัน ไม่มีการจับจองของใคร จึงเรียกว่า “สลาก” หรือ การเสี่ยงโชคของผู้รับ


 งานประเพณีแข่งเรือชิงถ้วยพระราชทานฯ สมเด็จพระเทพรัตนนาชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
            งานแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ต่อมาใน พ.ศ. 2479 ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคี และได้สืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐินพระราชทานในปัจจุบัน เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่ ขุดเป็นเรือ เอกลักษณ์เด่นของเรือแข่งเมืองน่าน คือ หัวเรือแกะเป็นรูปพญานาค ชูคอสง่างาม หางเรือเป็นหางพญานาคงอนสูง ด้วยคนเมืองน่านเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนคือ เจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง เกิดจากไข่พญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ การต่อเรือแข่งเป็นรูปพญานาคจึงถือเป็นการบูชาบุญคุณพญานาคผู้เป็นเจ้าแห่งลำน้ำและบรรพบุรุษของชาวเมืองน่าน การประชันฝีมือฝีพายจัดขึ้น ณ บริเวณแม่น้ำน่าน (เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ) ประเภทการแข่งขัน
           1. เรือเล็ก มีจำนวนฝีพายระหว่างไม่เกิน 30 คน
           2. เรือขนาดกลาง มีจำนวนฝีพายระหว่าง 31 - 40 คน
           3. เรือขนาดใหญ่ มีจำนวนฝีพายระหว่าง 41-55 คน
           4. ประเภทสวยงาม

 งานตักบาตรเทโวโรหณะ 
           เป็นงานบุญประจำทุกปี หลังวันออกพรรษา ณ วัดศิลามงคล ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ประเพณีตักบาตรเทโวเป็นประเพณีที่แสดงความสามัคคี ของชาวบ้าน มีพระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ในอำเภอท่าวังผามารับบิณฑบาต โดยพระสงฆ์จะเดินลงบันไดมาจากบนดอยจะมีคนถือพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ ปิดท้ายจะเป็นเหล่าเทวดา และเปรต จะมีประชาชนทั่วไปรอใส่บาตรด้านล่างเป็นแถวยาว
           เป็นการทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางประตูเมืองสังกัสสนคร เป็นการหยั่งจากเทวโลก (เทโวโรหณะ) ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างพร้อมใจกันรับเสด็จและนำอาหารมาทำบุญใส่บาตรอย่างเนืองแน่น


 ประเพณีล่องเรือไฟ 
           ประเพณีล่องเรือไฟอำเภอนาน้อย ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2480 โดยชาวอำเภอนาน้อย มีความเชื่อในประเพณีว่าเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การเอาไฟเผาความทุกข์ ประเพณีล่องเรือไฟของภาคอีสาน เรียกว่า “ไหลเรือไฟ” ส่วนที่อำเภอนาน้อยเรียกว่าประเพณีล่องเรือไฟ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ชาวบ้านเรียกว่างานยี่เป็ง หรือวันลอยกระทงในปัจจุบัน เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาได้มาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่ายๆ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การประดับตกแต่งเรือไฟภายในจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อยเรือไฟลงแม่น้ำ เท่าที่หลักฐานปรากฏมีแนวทางที่คล้ายกันอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่างๆ อาทิ ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ (พิธีเผาหลัวพระเจ้า) จะทำกันที่บริเวณวัด ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกพระคุณของพระแม่คงคา เป็นต้น
           ในปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งด้วยไฟฟ้าให้สวยงามสว่างไสวเต็มลำน้ำ อำเภอนาน้อย ได้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องกันมา เพื่อรักษาประเพณี ภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไปสู่คนรุ่นหลัง


เดือนธันวาคม

 งานสำคัญประจำปีที่ห้ามพลาด “เทศกาลของดีเมืองน่านและงานกาชาดจังหวัดน่าน”  
           ทุกธันวาคมเมื่อลมหนาวมาเยือน จังหวัดน่านมีงานประจำปี “เทศกาลของดีเมืองน่าน และงานกาชาดน่าน” ซึ่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนของชาวน่านทุกอำเภอไว้อย่างครบถ้วน  และงานแสดงนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวน่านสุขกายสุขใจ  งานนี้จัดขึ้นเพื่อหารายได้ช่วยเหลือกิจการสาธารกุศลของเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน     จนถือเป็นเทศกาลประจำปีให้ชาวน่าน และผู้เข้าร่วมงานจากต่างถิ่นทั่วไทยได้มาเที่ยวชม
           ในงานเทศกาลของดีเมืองน่าน ท่านจะได้ชิมอาหารล้านนาน่านแสนอร่อย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ งานฝีมือชาวน่านที่คัดสรรมามากมาย ชมงานนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริ  ณ ริมแม่น้ำน่านอันร่มรื่นตลอดสาย ยังสื่อถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำของชาวน่าน และเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแม่น้ำน่าน อันเป็นสายเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงชีวิตชาวน่าน และเป็น 1 ในสายน้ำหลัก ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลรวมสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมายาวนานอีกด้วย

 งานประเพณีปีใหม่ม้ง 
           เป็นงานรื่นเริงของชาวม้งทุกๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี แต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม
           ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ ภาษาม้ง ว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ”เพราะชาวม้งจะนับเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย (เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่จะประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันนั้นหัวหน้าครัวเรือน จะประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดการงานทุกอย่าง และจะมีการจัดการละเล่นต่างๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลง เป็นต้น