
วัดศรีพันต้น
บนเส้นทางไปศูนย์ราชการจังหวัดน่าน จะพบวัดที่มีวิหารหลังใหญ่สีทองอร่ามทั้งหลัง ตั้งอยู่ใกล้สี่แยก นั่นคือ วัดศรีพันต้น ซึ่งมีวิหารสีทองหลังใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า วัดศรีพันต้น เป็นโบราณสถานสำคัญคู่เมืองน่านกว่า 500 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ.1960-1969) เดิมชื่อ “วัดพันต้น” เมื่อคราวแรกสร้างมีการปลูกต้นสลี (ต้นโพธิ์) จำนวนถึงพันต้น จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดสลีพันต้น” ต่อมาชื่อวัดได้แปรไปเป็น “วัดศรีพันต้น” (สลี เป็นภาษาบาลี ,ศรี เป็น ภาษาสันสกฤต ทั้ง 2 คำ มีความหมายเดียวกัน) วิหารทาสีทองอร่ามทั้งหลัง ด้านนอกมีจิตรกรรมปูนปั้นพญานาคเจ็ดเศียรเฝ้าบันไดหน้าวิหาร ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย “พระพุทธสลี” และมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองน่าน มีเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ของเมืองน่าน ภายในวัดยังมีพระสังกัจจายน์ ที่เชื่อว่าพระญาพันต้นเป็นผู้สร้างขึ้น โดยทุกปีในวัน 5 เป็ง (หรือวันเพ็ญ เดือน 5 ) ซึ่งตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ใต้)หรือ 5 (เหนือ) โดยประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา มีงานเทศกาลสักการะพระสังกัจจายน์ โดยชาวน่าน และนักท่องเที่ยวที่ศรัทธาจะเดินทางมาร่วมงานเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ยังมีศาลา ที่ตั้ง “เรือพญาฆึ” ที่สร้างขึ้นตามโบราณประเพณีเรือแข่งน่าน มีความโดดเด่นและคุณลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากเรือแข่งน่านทั่วไป โดยถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาประดับตกแต่งเรืออย่างวิจิตรงดงาม เรือพญาฆึจะออกแสดงในตอนพิธีเปิด-ปิดสนามงานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เท่านั้น และเป็นเรือโบราณขนาดใหญ่ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 16 นาที

วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ มีชื่อปรากฎในคัมภีร์ ว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์ " ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2319 ต่อมาชื่อวัดได้เพี้ยนไปเป็น “วัดภูมินทร์” วัดตั้งอยู่ใกล้บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครน่าน เป็นวัดที่มีลักษณะโดดเด่นหนึ่งเดียวในประเทศไทย คือมีอาคารสร้างเป็นทรงจตุรมุข ซึ่งเป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในหลังเดียวกัน กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ตรงกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ หันหลังชนกัน และหันพระพักตร์ออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้านและแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรม ตามพงศาวดารของเมืองน่าน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักฝีมือช่างเมืองน่าน ลวดลายประณีตงดงาม ชาวน่านมีความเชื่อเรื่องคำอธิฐานจะสัมฤทธิ์ผลหากได้พนมมืออธิฐานและเดินลอดซุ้มพญานาคที่บันไดทางขึ้น เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างวัดหลังจากขึ้นปกครองนครน่านได้ 6 ปี ต่อมาอีก 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศจักรี ซึ่งจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ปู่ม่าน ย่าม่าน ได้เขียนขึ้นช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 7 นาที

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร แต่เดิมเรียกว่า “วัดหลวงกลางเวียง” ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครน่าน (หอคำ) มีอายุกว่า 600 ปี สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1949 โดยพญาภูเข็งเจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 74 ภายในวัดช้างค้ำมีปูชนียสถานสำคัญ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังประดับทองจังโก เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณรอบพระธาตุ เป็นปูนปั้นลอยตัวรูปช้างค้ำ เรียงรายอยู่โดยรอบเจดีย์ด้านละ 6 เชือกรวมทั้งหมด 24 เชือก จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดพระธาตุช้างค้ำ ปัจจุบัน ชาวน่านเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุหลวง” ตามชื่อในอดีต หอพระไตรปิฎก เป็นหอพระไตรปิฏกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เมื่อปีพุทธศักราช 2453 เพื่อใช้เก็บพระไตรปิฎกใบลานจารึกอักษรธรรม ภายในมีพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีพระทองคำ ปางลีลาศิลปะสุโขทัยประดิษฐานอยู่ด้านใน “นมัสการเจดีย์ช้างล้อมทรงสุโขทัย อิ่มไหว้พระทองคำปางลีลา” คือประโยคที่สื่อถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่น ของวัดพระธาตุช้างค้ำ หรือพระธาตุหลวง กลางเมืองน่าน
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 9 นาที

วัดพระธาตุแช่แห้ง
หากไม่ได้นมัสการพระธาตุแช่แห้ง ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองน่าน เป็นคำพูดของคนเคยไปเมืองน่าน พระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของลานนา เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 (เหนือ) ราวปลายกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม เรียกว่างานประเพณีหกเป็ง ซึ่งคนเมืองน่าน ถือว่างานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์เทศมหาชาติ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ รวมถึงมีการละเล่นทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานาน เช่น การตี “กลองแอว” การจ๊อย การซอ การอ่านค่าว เป็นต้น งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง จึงมีคนมาร่วมงานกันเนืองแน่น พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ที่ชาวลานนาเชื่อว่าหากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือ นมัสการพระธาตุประจำปีเกิดตามความเชื่อคนลานนา จะได้รับผลบุญอย่างยิ่ง
เดินทางโดย ขับรถ
ใช้เวลา 7 นาที

วัดสวนตาล
วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองน่านมากว่า 600 ปี สร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นสวนตาลหลวงโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อปี พ.ศ. 1955 จึงได้ชื่อว่า “วัดสวนตาล” ภายในวิหารมีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ที่ชาวน่านนับถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง นามว่า “พระเจ้าทองทิพย์” ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1992 เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่ยึดเมืองน่านไว้ได้ ทุกปีใหม่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เมืองน่าน มีงานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ ตำนานพระเจ้าทองทิพย์ กล่าวว่าเมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองได้แล้ว โดย มิได้สู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อกำลังไพร่พล เหมือนกับว่ามี เทวดามาช่วยเหลือ จึงเห็นควรให้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ในชัยชนะครั้งนั้น ในที่สุดพระเจ้าติโลกราชก็ ตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองขึ้นใน พ.ศ. 1987 เป็นพระพุทธรูป ทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ปางมารวิชัย 4.11 เมตร พระองค์ได้โปรดให้ช่างทั้งหลาย ทั้ง พม่า ไทใหญ่และช่างจากเมืองเชียงแสน ทำพิธีหล่อองค์พระพุทธรูปหลายครั้งหลายหน ไม่สำเร็จเพราะ เบ้าพิมพ์แตกเสียทุกครั้ง ในที่สุดก็มีชายชราแปลกหน้านุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทำ จึงสำเร็จสมปรารถนา แล้ว ชายชราก็หายไป จึงเป็นที่กล่าวขวัญว่า ชายชราที่มาช่วยสร้างพระนั้นคือเทวดา บริเวณใกล้ๆ วิหารหลังใหญ่ยังมีวิหารหลังเล็กอีกหนึ่งหลัง เป็นที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยปางนั่งพับเพียบ ซึ่งไม่พบทั่วไป พร้อมกับมีพระเจ้า 5 ที่ประดิษฐานอยู่ที่เดียวกัน คนนิยมมาสักการะกันมากเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 11 นาที
วัดมิ่งเมือง
วัดมิ่งเมือง เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน เมื่อมาถึงน่านแล้วควรมาสักการะเสาหลักเมืองน่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นวัดที่มีพระอุโบสถลายปูนปั้นที่สวยงามวิจิตรบรรจง ฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน เดิมวัดมิ่งเมืองเป็นวัดร้างที่มีอายุราว 149 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน สถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดมิ่งเมือง” ตามชื่อเสาหลักเมืองที่เรียกว่า “เสามิ่งเมือง” ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลาจตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาวที่วิจิตรตระการตาศาลาเสาหลักเมืองตั้งอยู่ ด้านหน้าพระอุโบสถของวัดมิ่งเมือง ลักษณะเสาหลักเมือง เป็นไม้สักสูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้ามีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 13 นาที
วัดหัวข่วง
วัดหัวข่วง เป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน เนื่องจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดได้แก่ เจดีย์ พระอุโบสถ ธรรมมาสน์ และหอไตร ล้วนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาอย่างแท้จริง กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดหัวข่วงเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2523 วัดหัวข่วงตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองน่านในอดีต มีประวัติการก่อสร้าง ไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏหลักฐานการปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดหัวข่วงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2454 โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า "ข่วง" คือ ลานกว้างๆ วัดหัวข่วงก็คือ วัดที่ตั้งอยู่ทิศเหนือ ซึ่งถือเป็นด้านหัวของ “ข่วงเมือง” หรือลานกว้างกลางเมืองที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เหมือน สนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุหน้าวัดพระแก้วในกรุงเทพ แม้ว่าข่วงเมืองน่านจะไม่ใหญ่โตมากนัก วัดห่วงข่วงมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ “เจดีย์วัดหัวข่วง” ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด "หอไตร" เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม 2 ชั้น ทรงสูง ศิลปะล้านนา-ล้านช้าง “ธรรมาสน์” เป็นทรงสี่เหลี่ยม ยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 9 นาที

วัดพญาวัด
แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดพญาวัดเป็นศูนย์กลางเมืองน่านในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้งมาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และเป็นที่ตั้งของเจดีย์จามเทวี ปูชนียสถานที่เก่าแก่ และสำคัญอีกแห่งหนี่งของจังหวัดน่าน เป็นสถูปเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี โดยช่างได้นำรูปแบบเจดีย์มาจากลำพูน ภายในอุโบสถของวัดพญาวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าสายฝน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวลานนา อัญเชิญมาแห่พิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และที่วัดนี้ยังมี “ธรรมาสน์ไม้แกะสลัก” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 โดยฝีมือช่างพื้นเมืองน่าน
เดินทางโดย ขับรถ
ใช้เวลา 7 นาที
