ติดต่อเรา
หน้าหลัก / ติดต่อเรา / สถานที่ใกล้เคียง
สถานที่ใกล้เคียง
สถานที่ใกล้เคียงที่น่าสนใจ ในรัศมี 5 กิโลเมตร
เติมเต็มช่วงเวลาพักผ่อนของคุณกับสถานที่ ที่เราคัดสรรให้คุณดื่มด่ำกับสีสันจังหวัดน่าน

วัดศรีพันต้น

บนเส้นทางไปศูนย์ราชการจังหวัดน่าน จะพบวัดที่มีวิหารหลังใหญ่สีทองอร่ามทั้งหลัง ตั้งอยู่ใกล้สี่แยก นั่นคือ วัดศรีพันต้น ซึ่งมีวิหารสีทองหลังใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า วัดศรีพันต้น เป็นโบราณสถานสำคัญคู่เมืองน่านกว่า 500 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ.1960-1969) เดิมชื่อ “วัดพันต้น” เมื่อคราวแรกสร้างมีการปลูกต้นสลี (ต้นโพธิ์) จำนวนถึงพันต้น จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดสลีพันต้น” ต่อมาชื่อวัดได้แปรไปเป็น “วัดศรีพันต้น” (สลี เป็นภาษาบาลี ,ศรี เป็น ภาษาสันสกฤต ทั้ง 2 คำ มีความหมายเดียวกัน) วิหารทาสีทองอร่ามทั้งหลัง ด้านนอกมีจิตรกรรมปูนปั้นพญานาคเจ็ดเศียรเฝ้าบันไดหน้าวิหาร ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย “พระพุทธสลี” และมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองน่าน มีเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ของเมืองน่าน ภายในวัดยังมีพระสังกัจจายน์ ที่เชื่อว่าพระญาพันต้นเป็นผู้สร้างขึ้น โดยทุกปีในวัน 5 เป็ง (หรือวันเพ็ญ เดือน 5 ) ซึ่งตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ใต้)หรือ 5 (เหนือ) โดยประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา มีงานเทศกาลสักการะพระสังกัจจายน์ โดยชาวน่าน และนักท่องเที่ยวที่ศรัทธาจะเดินทางมาร่วมงานเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ยังมีศาลา ที่ตั้ง “เรือพญาฆึ” ที่สร้างขึ้นตามโบราณประเพณีเรือแข่งน่าน มีความโดดเด่นและคุณลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากเรือแข่งน่านทั่วไป โดยถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาประดับตกแต่งเรืออย่างวิจิตรงดงาม เรือพญาฆึจะออกแสดงในตอนพิธีเปิด-ปิดสนามงานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เท่านั้น และเป็นเรือโบราณขนาดใหญ่ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

ห่างจากโรงแรม 1.3 กม.
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 16 นาที

วัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์ มีชื่อปรากฎในคัมภีร์ ว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์ " ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2319 ต่อมาชื่อวัดได้เพี้ยนไปเป็น “วัดภูมินทร์” วัดตั้งอยู่ใกล้บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครน่าน เป็นวัดที่มีลักษณะโดดเด่นหนึ่งเดียวในประเทศไทย คือมีอาคารสร้างเป็นทรงจตุรมุข ซึ่งเป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในหลังเดียวกัน กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ตรงกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ หันหลังชนกัน และหันพระพักตร์ออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้านและแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรม ตามพงศาวดารของเมืองน่าน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักฝีมือช่างเมืองน่าน ลวดลายประณีตงดงาม ชาวน่านมีความเชื่อเรื่องคำอธิฐานจะสัมฤทธิ์ผลหากได้พนมมืออธิฐานและเดินลอดซุ้มพญานาคที่บันไดทางขึ้น เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างวัดหลังจากขึ้นปกครองนครน่านได้ 6 ปี ต่อมาอีก 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศจักรี ซึ่งจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ปู่ม่าน ย่าม่าน ได้เขียนขึ้นช่วงนี้ด้วยเช่นกัน

ห่างจากโรงแรม 700 เมตร
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 7 นาที

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร แต่เดิมเรียกว่า “วัดหลวงกลางเวียง” ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครน่าน (หอคำ) มีอายุกว่า 600 ปี สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1949 โดยพญาภูเข็งเจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 74 ภายในวัดช้างค้ำมีปูชนียสถานสำคัญ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังประดับทองจังโก เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณรอบพระธาตุ เป็นปูนปั้นลอยตัวรูปช้างค้ำ เรียงรายอยู่โดยรอบเจดีย์ด้านละ 6 เชือกรวมทั้งหมด 24 เชือก จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดพระธาตุช้างค้ำ ปัจจุบัน ชาวน่านเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุหลวง” ตามชื่อในอดีต หอพระไตรปิฎก เป็นหอพระไตรปิฏกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เมื่อปีพุทธศักราช 2453 เพื่อใช้เก็บพระไตรปิฎกใบลานจารึกอักษรธรรม ภายในมีพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีพระทองคำ ปางลีลาศิลปะสุโขทัยประดิษฐานอยู่ด้านใน “นมัสการเจดีย์ช้างล้อมทรงสุโขทัย อิ่มไหว้พระทองคำปางลีลา” คือประโยคที่สื่อถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่น ของวัดพระธาตุช้างค้ำ หรือพระธาตุหลวง กลางเมืองน่าน

ห่างจากโรงแรม 750 เมตร
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 9 นาที

วัดพระธาตุแช่แห้ง

หากไม่ได้นมัสการพระธาตุแช่แห้ง ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองน่าน เป็นคำพูดของคนเคยไปเมืองน่าน พระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของลานนา เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 (เหนือ) ราวปลายกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม เรียกว่างานประเพณีหกเป็ง ซึ่งคนเมืองน่าน ถือว่างานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์เทศมหาชาติ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ รวมถึงมีการละเล่นทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานาน เช่น การตี “กลองแอว” การจ๊อย การซอ การอ่านค่าว เป็นต้น งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง จึงมีคนมาร่วมงานกันเนืองแน่น พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ที่ชาวลานนาเชื่อว่าหากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือ นมัสการพระธาตุประจำปีเกิดตามความเชื่อคนลานนา จะได้รับผลบุญอย่างยิ่ง

ห่างจากโรงแรม 3.1 กม.
เดินทางโดย ขับรถ
ใช้เวลา 7 นาที

วัดสวนตาล

วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองน่านมากว่า 600 ปี สร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นสวนตาลหลวงโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อปี พ.ศ. 1955 จึงได้ชื่อว่า “วัดสวนตาล” ภายในวิหารมีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ที่ชาวน่านนับถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง นามว่า “พระเจ้าทองทิพย์” ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1992 เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่ยึดเมืองน่านไว้ได้ ทุกปีใหม่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เมืองน่าน มีงานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ ตำนานพระเจ้าทองทิพย์ กล่าวว่าเมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองได้แล้ว โดย มิได้สู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อกำลังไพร่พล เหมือนกับว่ามี เทวดามาช่วยเหลือ จึงเห็นควรให้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ในชัยชนะครั้งนั้น ในที่สุดพระเจ้าติโลกราชก็ ตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองขึ้นใน พ.ศ. 1987 เป็นพระพุทธรูป ทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ปางมารวิชัย 4.11 เมตร พระองค์ได้โปรดให้ช่างทั้งหลาย ทั้ง พม่า ไทใหญ่และช่างจากเมืองเชียงแสน ทำพิธีหล่อองค์พระพุทธรูปหลายครั้งหลายหน ไม่สำเร็จเพราะ เบ้าพิมพ์แตกเสียทุกครั้ง ในที่สุดก็มีชายชราแปลกหน้านุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทำ จึงสำเร็จสมปรารถนา แล้ว ชายชราก็หายไป จึงเป็นที่กล่าวขวัญว่า ชายชราที่มาช่วยสร้างพระนั้นคือเทวดา บริเวณใกล้ๆ วิหารหลังใหญ่ยังมีวิหารหลังเล็กอีกหนึ่งหลัง เป็นที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยปางนั่งพับเพียบ ซึ่งไม่พบทั่วไป พร้อมกับมีพระเจ้า 5 ที่ประดิษฐานอยู่ที่เดียวกัน คนนิยมมาสักการะกันมากเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ห่างจากโรงแรม 900 เมตร
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 11 นาที

วัดมิ่งเมือง

วัดมิ่งเมือง เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน เมื่อมาถึงน่านแล้วควรมาสักการะเสาหลักเมืองน่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นวัดที่มีพระอุโบสถลายปูนปั้นที่สวยงามวิจิตรบรรจง ฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน เดิมวัดมิ่งเมืองเป็นวัดร้างที่มีอายุราว 149 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน สถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดมิ่งเมือง” ตามชื่อเสาหลักเมืองที่เรียกว่า “เสามิ่งเมือง” ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลาจตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาวที่วิจิตรตระการตาศาลาเสาหลักเมืองตั้งอยู่ ด้านหน้าพระอุโบสถของวัดมิ่งเมือง ลักษณะเสาหลักเมือง เป็นไม้สักสูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้ามีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ห่างจากโรงแรม 1 กม.
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 13 นาที

วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง เป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน เนื่องจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดได้แก่ เจดีย์ พระอุโบสถ ธรรมมาสน์ และหอไตร ล้วนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาอย่างแท้จริง กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดหัวข่วงเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2523 วัดหัวข่วงตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองน่านในอดีต มีประวัติการก่อสร้าง ไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏหลักฐานการปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดหัวข่วงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2454 โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า "ข่วง" คือ ลานกว้างๆ วัดหัวข่วงก็คือ วัดที่ตั้งอยู่ทิศเหนือ ซึ่งถือเป็นด้านหัวของ “ข่วงเมือง” หรือลานกว้างกลางเมืองที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เหมือน สนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุหน้าวัดพระแก้วในกรุงเทพ แม้ว่าข่วงเมืองน่านจะไม่ใหญ่โตมากนัก วัดห่วงข่วงมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ “เจดีย์วัดหัวข่วง” ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด "หอไตร" เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม 2 ชั้น ทรงสูง ศิลปะล้านนา-ล้านช้าง “ธรรมาสน์” เป็นทรงสี่เหลี่ยม ยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก

ห่างจากโรงแรม 700 เมตร
เดินทางโดย การเดิน
ใช้เวลา 9 นาที

วัดพญาวัด

แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดพญาวัดเป็นศูนย์กลางเมืองน่านในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้งมาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และเป็นที่ตั้งของเจดีย์จามเทวี ปูชนียสถานที่เก่าแก่ และสำคัญอีกแห่งหนี่งของจังหวัดน่าน เป็นสถูปเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี โดยช่างได้นำรูปแบบเจดีย์มาจากลำพูน ภายในอุโบสถของวัดพญาวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าสายฝน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวลานนา อัญเชิญมาแห่พิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และที่วัดนี้ยังมี “ธรรมาสน์ไม้แกะสลัก” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 โดยฝีมือช่างพื้นเมืองน่าน

ห่างจากโรงแรม 2.2 กม.
เดินทางโดย ขับรถ
ใช้เวลา 7 นาที
  1 2 3